ทีเส็บยกระดับศักยภาพชุมชนภาคเหนือ ปั้นมาตรฐาน เจาะตลาดไมซ์กำลังซื้อสูง
เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 ณ โรงแรมเซ็นทารา ริเวอร์ไซด์ เชียงใหม่ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สสปน. หรือ ทีเส็บ ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จัดกิจกรรมอบรมยกระดับศักยภาพชุมชนท่องเที่ยวสู่ชุมชนท่องเที่ยวไมซ์ มุ่งส่งเสริมมาตรฐานชุมชนสู่การเป็นสถานที่จัดงานไมซ์ เน้นศักยภาพใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ สถานที่จัดกิจกรรม, กิจกรรม, การบริการ และความปลอดภัย สุขอนามัย โดยมีเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดเชียงใหม่จำนวน 20 ชุมชนเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 35 คน
กิจกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของการจัดกิจกรรมไมซ์ เป็นสถานที่จัดงานที่ยกระดับด้วยการพัฒนามาตรฐานการบริการ พัฒนาสินค้า สร้างมูลค่าเพิ่ม และยกระดับความร่วมมือในชุมชน เพื่อสร้างคนสร้างรายได้ โดยมีการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไมซ์แก่ผู้เข้าร่วมอบรม รวมทั้งมีวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญบรรยายในหัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่ การวางแผนปั้นแบรนด์สู่ตลาดไมซ์, การพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนสู่การเป็นชุมชนท่องเที่ยวไมซ์ และการเสวนาหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชนสำหรับตลาดไมซ์” โดยคุณอรชร ว่องพรรณงาม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ สสปน., คุณอภิรัตน์ มาศรัตน์ ประธานเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชียงใหม่, อาจารย์อนาวิน สุวรรณะ ประธานหน่วยวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและไมซ์
คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, คุณณัฐวุฒิ ปิ่นทองคำ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและสื่อสารองค์กร กลุ่มเบญจจินดา, คุณฉัตรรุ่ง ประกอบไวทยกิจ ประธาน ออนใต้ ออร์แกนิคฟาร์มและอาจารย์นิมิตร พิพิธกุล ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ซึ่งต่างร่วมแบ่งปันมุมมองเชิงลึก พร้อมสะท้อนแนวคิดที่เป็นไปได้จริงในการนำชุมชนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไมซ์อย่างมั่นคงและสมดุล
ที่สำคัญกิจกรรมครั้งนี้ดำเนินการภายใต้แนวคิด “Sustainable Event” ซึ่งเป็นการออกแบบกิจกรรมที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ผู้เข้าร่วมอบรมใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์แทนเอกสารกระดาษ การรณรงค์ให้นำแก้วน้ำมาใช้เองเพื่อลดขยะจากบรรจุภัณฑ์ และการคำนวณ Carbon Footprint เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างโปร่งใสและสร้างสรรค์ พร้อมทั้งรายงานผลการประหยัดที่เกิดขึ้นจากแนวทางเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม