ข่าวภาคเหนือ » ปปส. ภาค 5 ระดมสมองจากเครือข่าย จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน หวังสังคมไทยปลอดจากยาเสพติด

ปปส. ภาค 5 ระดมสมองจากเครือข่าย จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน หวังสังคมไทยปลอดจากยาเสพติด

16 กรกฎาคม 2025
13   0

Spread the love

ปปส. ภาค 5 ระดมสมองจากเครือข่าย จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน มุ่งสู่เป้าหมายสังคมไทยปลอดจากยาเสพติด


วันนี้ (16 ก.ค. 68) ที่ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จ.เชียงใหม่ นางสาวสุกัญญา ใหญ่วงศ์ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 5 เป็นประธานเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ซึ่งสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 5 (ปปส. ภาค 5) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-17 กรกฎาคม 2568 เพื่อระดมความคิดเห็นของหน่วยงานบูรณาการในพื้นที่ ในการจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ระดับจังหวัด ปีงบประมาณ พ.ศ.2569 ให้สอดรับกับกรอบทิศทางการดำเนินงานตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด (พ.ศ.2566-2570) และสถานการณ์ปัญหายาเสพติดในปัจจุบัน รวมถึงเป็นการศึกษาทบทวนสถานการณ์ ผลการดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานในด้านการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดในช่วงที่ผ่านมา


นางสาวสุกัญญา ใหญ่วงศ์ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 5 กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหายาเสพติดในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน รวมถึงหลายๆ ที่ในประเทศไทย ยังคงมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น การเข้าถึงแหล่งซื้อขายยาเสพติดที่ผิดกฎหมายเกิดขึ้นอย่างง่ายดาย เช่นเดียวกับปริมาณของกลางที่ตรวจยึดได้เพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงต้องมีการกำหนดแผนปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้สามารถจัดการกับปัญหายาเสพติดที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ


โดยในปี 2569 จะดำเนินการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดภายใต้วิสัยทัศน์ที่ให้สังคมไทยปลอดจากยาเสพติด ด้วยมาตรการทางเลือกใหม่ สู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยกำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดให้สัดส่วนของผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดต่อประชากรลดลง โดยต้องไม่เกิน 8.5 คน ต่อประชากร 1,000 คน , ร้อยละของคดีอาชญากรรมที่เกี่ยวกับยาเสพติดต้องลดลงในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 4 ของคดีอาชญากรรม และ ประชาชนร้อยละ 80 จะต้องมีความพึงพอใจและมีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด
.